วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีการสอน (Teaching Methods)




หลักการสอนที่ดี คือ ผู้สอน วิธีการสอน และการเรียนรู้ บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ผู้สอนจะต้องมีจรรยาบรรณแห่งความเป็นครู วิธีการสอนคือกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ผู้สอนกับผู้เรียนจะต้องสอดคล้อง เหมาะสม เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี เพื่อให้การสอนบรรลุตามเป้าหมาย ผู้สอนต้องเตรียมการสอนมาอย่างดี ทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทุกด้าน จัดการสอนอย่างมีกระบวนการ และให้ครบองค์ประกอบการสอน ได้แก่ การตั้งจุดประสงค์การสอน การกำหนดเนื้อหา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อการสอน และการวัดผลประเมินผล ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ตรงตามจุดมุ่งหมาย ของหลักสูตร นอกจากนี้ผู้สอนควรได้คำนึงถึงหลักพื้นฐานในการสอน ลักษณะการสอนที่ดี และปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดจนรู้จักใช้หลักการสอนให้สอดคล้องกับหลักการเรียนรู้หลักจิตวิทยาบรรยากาศเป็นประชาธิปไตย ก็จะช่วยให้การเรียนการสอนประสบผลสำเร็จได้ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

การสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง (Total physical response method)

การสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทางนี้คิดขึ้นมาโดย James Asher ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกัน วิธีสอนแบบนี้อิงแนวคิดที่ว่า การสื่อความหมายของภาษาต่างประเทศ อาจทำได้โดยการปฏิบัติ หรือใช้กริยาอาการประกอบ ผู้เรียนจะจำได้ดี ถ้าได้ปฏิบัติหรือแสดงการโต้ตอบด้วยการเรียนภาษาควรเรียนกลุ่มคำที่มีความหมายไม่ใช่การเรียนคำโดด ๆ เน้นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียนผู้เรียนควรได้รับการฝึกฟังให้เข้าใจก่อนที่จะฝึกพูด ผู้เรียนจะเริ่มพูด เมื่อพร้อมที่จะพูดผู้เรียนจะเรียนรู้ภาษาจากการสังเกตและการกระทำของผู้อื่นและจากการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง การที่ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จในการเรียนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น การแก้ไขเมื่อผู้เรียนทำผิดจึงควรทำอย่างนุ่มนวล ไม่โจ่งแจ้งโดยผู้สอนอาจพูดซ้ำ หรือปฏิบัติให้ผู้เรียนดูเป็นตัวอย่างการแก้ไขในรายละเอียดอาจต้องชะลอไว้จนกว่าผู้เรียนจะอยู่ในระดับสูงขึ้น
ลักษณะเด่น
1. ในระยะแรกของการเรียนการสอน ผู้เรียนไม่ต้องพูด แต่เป็นเพียงผู้ฟังและทำตามครู
2. ครูเป็นผู้กำกับพฤติกรรมของนักเรียนทั้งหมด ครูจะเป็นผู้ออกคำสั่งเอง จนถึงระยะเวลาที่
นักเรียนสามารถพูดได้แล้ว จึงเรียนอ่านและเขียนต่อไป
3. ภาษาที่นำมาใช้ในการสอนเน้นที่ภาษาพูด เรียนเรื่องโครงสร้างทางไวยากรณ์และคำศัพท์
มากกว่าด้านอื่นๆ โดยอิงอยู่กับประโยคำสั่ง
4. นักเรียนจะข้าใจความหมายได้อย่างชัดเจนจากการแสดงท่าทางของครู
5. ครูทราบได้ทันทีว่านักเรียนเข้าใจหรือไม่ จากการสังเกตการปฏิบัติตามคำสั่งของนักเรียน


ที่มา:วชิร ภุมมา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา,การสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง (Total physical response method).จาก ชื่อเว็บไซต์:http://learners.in.th/blog/wpumma30/18751

วิธีการสอนตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบความรู้ความเข้าใจ ( Cognitive Code Learning Theory)

วิธีการสอนแบบนี้ยึดแนวคิดที่ว่า ภาษาเป็นระบบที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ความเข้าใจ และการแสดงออก ทางภาษาขึ้นอยู่กับความเข้าใจ กฎเกณฑ์ เมื่อผู้เรียนมีความเข้าใจในรูปแบบของภาษาและความหมายแล้ว ก็จะสามารถใช้ภาษาได้
ในระยะหลังสงครามโลกเป็นต้นมา วิธีสอนแบบฟัง-พูด (Audio-lingual method) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายผู้สอนภาษาต่างประเทศต่างได้รับการชักชวนให้ใช้วิธีสอนแบบฟัง-พูด แต่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติในห้องเรียนปรากฏว่าผลที่ได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ จากการวิจัยยังพบว่า ผลที่ได้ไม่ดีไปกว่าวิธีเดิม
ดังนั้นการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศจึงหันมาสนใจวิธีการสอนตามทฤษฎีการเรียนแบบความรู้ความเข้าใจ ซึ่งได้แนวคิดมาจากนักจิตวิทยาภาษาศาสตร์ เช่น John B. Carroll, Kenneth Chastain และ Noam Chomsky นักภาษาสาสตร์กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมซึ่งเชื่อว่า ภาษาเป็นเรื่องของการสร้างสมนิสัยจากการวางเงื่อนไขและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า แต่กลุ่มนักจิตวิทยาภาษาศาสตร์เชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาของคนมีความสลับซับซ้อนมากกว่าเพราะเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ภายในสมองมนุษย์ หรือเกิดจากความรู้ความเข้าใจและการใช้ความคิดเป็นพื้นฐาน Carroll กล่าวถึงวิธีนี้ว่าเป็นการสอนแบบไวยากรณ์ และแปลโฉมหน้าใหม่ เพราะการเรียนภาษาเป็นกระบวนการเรียนศัพท์ โครงสร้างและการวิเคราะห์ภาษาอย่างมีแบบแผน
สรุปแล้วการสอนแบบนี้คล้ายกับการสอนแบบไวยากรณ์และแปลในส่วนที่เน้นความเข้าใจโครงสร้างภาษา แต่แตกต่างที่จุดมุ่งหมายในการสอนวิธีสอนแบบไวยากรณ์และแปลมุ่งสอนไวยากรณ์ เพื่อนำไปใช้แปลข้อความต่าง ๆ ความสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการเทียบเคียงภาษาทั้งสอง แต่การสอนตามทฤษฎีความรู้ความเข้าใจมุ่งเน้นกระบวนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาที่เรียน และเน้นการพัฒนา ทักษะทั้ง 4 แต่ไม่ใช่การฝึกซ้ำ ๆ ตามวิธีสอนแบบฟัง-พูด วิธีสอนแบบความรู้ความเข้าใจเป็นการมองการเรียนรู้ภาษาเป็นกระบวนการแก้ปัญหาผู้เรียนจะได้รับการแนะนำช่วยเหลือ โดยเริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานทางด้านกฎเกณฑ์ทางภาษาของผู้เรียนเอง ครูจัดบรรยากาศของชั้นเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงภาษาของตนเองกับภาษาใหม่
ลักษะเด่น
1. ครูมุ่งฝึกทักษะทุกด้านตั้งแต่เริ่มสอน โดยไม่จำเป็นต้องฝึกฟังและพูดให้ดีก่อน แล้วจึงอ่านและเขียนตามวิธีสอนแบบฟัง-พูด (Audio-Lingual Method)
2. ครูสอนเนื้อหาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการที่แตกต่างของนักเรียน ที่มีความสามารถในทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่แตกต่างกัน
3. สนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ความคิด สติปัญญา และมีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ
4. ใช้ภาษาไทยในการช่วยอธิบาย แต่อธิบายเฉพาะในเรื่องการฟังและพูด

ที่มา:วชิร ภุมมา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา,การสอนแบบความรู้ความเข้าใจ
(cognitive code learning).จาก ชื่อเว็บไซต์:http://learners.in.th/blog/wpumma30/18751

วิธีสอนแบบแสดงบทบาท (Role Playing Method)

วิธีสอนแบบแสดงบทบาทเป็นวิธีสอนที่ใช้การแสดงบทบาทสมมุติหรือการเทียบเคียงสถานการณ์ที่เป็นจริงมาเป็นเครื่องมือในการสอน โดยที่ครูสร้างสถานการณ์สมมุติและบทบาทขึ้นมาให้นักเรียนได้แสดงออก การแสดงบทบาทอาจทำได้ทั้งทางด้านความรู้ความคิด และพฤติกรรมของผู้แสดง วิธีการนี้จะสร้างความเข้าใจและความรู้สึกให้เกิดกับนักเรียนได้ดี

ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบแสดงบทบาท
1. เพื่อฝึกให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นทีม
2. เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกซึ่งความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม
3. เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหา

ขั้นตอนของวิธีสอนแบบแสดงบทบาทก็ง่ายๆแค่เลือกปัญหาที่นักเรียนเข้าใจยาก
มาเป็นเรื่องที่จะแสดงบทบาทให้นักเรียนร่วมกันกำหนดตัวบุคคลให้เหมาะสม
ธรรมชาติของเด็กชอบเล่นสมมุติอยู่แล้ว แต่ครูต้องละเอียดกับสำนวนภาษาและแนวคิด
น สังคมใหม่สรรหาอะไรมาให้เด็กลอกเลียนแบบ การสอนแบบแสดงบทบาททำให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย และจดจำได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมส่งเสริมให้เด็กมีการสร้างความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงาน
แต่ครูต้องเน้นให้มีสาระสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
มีข้อสังเกตของวิธีสอนแบบบทบาทอีกนิด
การแสดงบทบาทบางครั้งใช้เวลามาก ทั้งในการแสดงจริงและการฝึกซ้อม
ยิ่งทุกวันนี้เด็กมีพฤติกรรมด้านการแข่งขันสูง
ครูผู้สอนต้องเข้มงวดเรื่องความเหมาะสมคำนึงถึงองค์ประกอบ
เช่นเวลาและค่าใช้จ่ายให้พอดี กำจัดความเกินงาม


ที่มา
:ศูนย์เครื่อข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ อำเภอท่าปลา จากเว็บไซต์:http://www.neric-club.com

การสอนแบบเอกัตภาพ ( Individualized Instruction)




การสอนแบบเอกัตภาพนี้ยึดหลักการสอนแบบบุคคล นั่นคือ เชื่อในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ถือว่าคนทุกคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ใครที่เรียนดี เรียนได้เร็วควรจะไปรุดหน้ากว่าคนที่อ่อนและช้า บทเรียนที่จัดขึ้นมีทั้งบทเรียนธรรมดาและบทเรียนสำเร็จรูป ( Programmed lessons) การสอนแบบนี้ เป็นพัฒนาการของการจัดการศึกษาตามแนวทางใหม่ เป็นการปฏิรูประบบการเรียน การสอน และการจัดห้องเรียนจากแบบเดิมที่มีครูเป็นผู้นำแต่ผู้เดียวมาเป็นระบบที่ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในชั้นเรียนหนึ่ง ๆ โดยการแบ่งออกเป็นมุมต่าง ๆ เช่น มุม Oral, reading และ writing แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ สัก 3 – 5 กลุ่มอาจจะใช้ครูผู้สอน 2 หรือ 3 คนช่วยกันสอนเป็น team teach ring
วิธีการเรียนการสอนแบบเอกัตภาพนี้ใช้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีการศึกษา 2523 โดยใช้ชื่อเรียกสื่อการเรียนการสอนชุดนี้ว่า “ชุดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Learning Kit)”

วิธีการสอนแบบเอกัตภาพ1. ครูสอนสิ่งที่นักเรียนจะต้องเรียนพร้อมกันทีเดียวทั้งห้องหรือครึ่งห้อง เป็นต้นว่าการออกเสียง ไวยากรณ์ หรือคำศัพท์ สัก 10 – 15 นาที
2. แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยสัก 3 – 5 กลุ่ม มีหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยแต่ละกลุ่มทำงานตามที่ครูมอบหมายให้ทำด้วยตนเอง ถ้ามีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือจะเข้ามาปรึกษาครูได้เป็นราย ๆ ไป ในครั้งหนึ่ง ๆ นักเรียนอาจจะเลือกทำกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้ตามความสนใจของตน แต่ครูจะต้องเป็นผู้รับรู้ด้วย
3. การเรียนอ่านและเขียนนั้นเป็นการเรียนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ครูมีหน้าที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือ อธิบายอย่างคร่าว ๆ นักเรียนคนใดเรียนได้เร็ว ทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อย ครูจะให้ช่วยเหลือหรือแนะนำหรือดูแลการทำแบบฝึกหัดของนักเรียนที่อ่อน
4. แต่ละครั้งนักเรียนเอางานที่สำเร็จแล้วมาให้ครูดู แล้วไปเขียนในสมุดหรือกระดาษรายงานส่วนตัวที่เรียกว่า progress chart เพื่อเป็นหลักฐานว่าในครั้งนั้น ๆ ตนได้ทำงานอะไรไปแล้วบ้าง

ข้อเสีย
1.จะต้องอบรมให้นักเรียนมีระเบียบวินัย ซื่อตรงต่อตนเอง สามารถบังคับใจให้ทำงานได้เองโดยไม่มีใครบังคับ
2. บทเรียนที่ใช้มักจะมีราคาแพง เพราะต้องบรรจุกิจกรรมมากอย่างเพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน
3. ครูจะต้องมีความสนใจต่อนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง จึงจะช่วยให้การเรียนเป็นผลสำเร็จ

ข้อดี
1. สามารถจะแก้ปัญหานักเรียนที่มีพื้นฐานความรู้ต่างกันได้
2. นักเรียนได้รับการฝึกภาษาอย่างทั่วถึงกัน เพราะแต่ละกลุ่มเป็นกลุ่มเล็ก


ที่มา: ศูนย์เครื่อข่ายพัฒนาการเรียนการสอน อำเภอท่าปลา.
การสอนแบบเอกัตภาพ ( Individualized Instruction),จากเว็บไซต์:http://www.neric-club.com/data.php?page=8&menu_id=76

วิธีการสอนไวยากรณ์และการแปล (Grammar Translation)



วิธีแปล ( Translation Method) การสอนวิธีนี้บางทีก็มีคนเรียกว่าเป็นวิธีไวยากรณ์และแปล
( Grammar - Translation Method) เพราะเน้นในการเรียนกฎเกณฑ์การใช้ภาษา ข้อยกเว้นต่าง ๆ และวิธีแปล การเรียนแบบนี้ครั้งหนึ่งมีผู้นิยมกันมาก วิธีสอนแบบนี้ใช้วิธีแปลเป็นหลักโดยถือว่าภาษานั้นประกอบด้วยคำเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นตำราที่เกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษจึงยึดเอาการเรียนให้รู้คำศัพท์เป็นจำนวนมากเป็นเกณฑ์ แบบฝึกหัดต่าง ๆ นั้นก็ได้แก่การให้ประโยคภาษาไทย ให้นักเรียนแปลเป็นภาษาอังกฤษ และให้ประโยคภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนแปลเป็นภาษาไทย
ข้อดีของการสอนแบบแปล
1. การสอนแบบนี้ จะมีประโยชน์สำหรับผู้เริ่มเรียนในระยะแรก ๆ คือ ในเวลาที่ผู้เรียนยังไม่รู้จักเสียง โครงสร้าง และความหมายมากพอ การแปลศัพท์ที่มีความหมายตรงกัน (word for word translation) ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้ง และไม่เสียเวลามาก แต่ครูจะต้องค่อย ๆ ลดการแปลลงทีละน้อย ๆ เมื่อนักเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยการนำคำและโครงสร้างที่นักเรียนทราบมาใช้แทนที่
2. การแปลยังเป็นประโยชน์ในการช่วยทดสอบความเข้าใจของนักเรียน ในเรื่องที่สอนไปแล้ว แต่ในการฝึกเป็นภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องฝึกแปลจากไทยเป็นอังกฤษหรือจากอังกฤษเป็นไทย
ข้อเสียของการสอนแบบแปล
จะเห็นได้ว่า การสอนแบบแปลนี้ นักเรียนไม่ได้เรียนตามธรรมชาติของภาษาเลย นักเรียนที่เรียนแบบนี้จะฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องและพูดไม่ได้
ในด้านการเขียน การสอนแบบนี้ก็ไม่ช่วยให้การเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนดีขึ้น เพราะนักเรียนทราบแต่ศัพท์ เมื่อนำมาเขียน นักเรียนก็จะใช้ศัพท์เหล่านั้นในประโยคโดยที่นักเรียนไม่แม่นในรูปแบบของประโยค และบังเกิดความเคยชินกับการคิดเป็นภาษาไทยก่อนเสมอแทนที่จะคิดเป็นภาษาอังกฤษเลยทีเดียว จะปรากฏว่านักเรียนใช้คำภาษาอังกฤษจริงแต่รูปประโยคจะเป็นภาษาไทย เช่น นักเรียนจะใช้ประโยคว่า “ The music enjoyed very much ” แทน “ I enjoyed the music very much .” เพราะประโยคข้างบนนั้นนักเรียนเขียนเทียบกับภาษาไทยว่า “ เพลงสนุกมาก ” แม้แต่ในการแปล การสอนแบบนี้ก็ไม่ได้ผลเต็มที่ นักเรียนอาจจะแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ แต่การแปลจากภาษาไทยเป็นภาษา อังกฤษนั้นนักเรียนจะเขียนประโยคที่ผิด ๆ ลงไปเสียเป็นส่วนมาก เพราะนักเรียนไม่คุ้นเคยกับการใช้ประโยคภาษาอังกฤษ
การแปลนั้นมิได้หมายความว่า นักเรียนจะเข้าใจภาษาอังกฤษ เพราะคำที่นักเรียนเข้าใจนั้นเป็นคำไทยที่ครูใช้ในการแปล ไม่ใช่ตัวภาษาอังกฤษที่นักเรียนอ่าน ถ้าครูอ่านภาษาอังกฤษนักเรียนจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าครูแปลเป็นไทยจึงจะเข้าใจ ดังนั้นที่นักเรียนเข้าใจคือ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

ที่มา:ศูนย์เครื่อข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ อำเภอท่าปลา.วิธีแปล ( Translation Method ),
จากเว็บไซต์:www.neric-club.com/data.php?page=8&menu_id=76