วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีการสอนตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบความรู้ความเข้าใจ ( Cognitive Code Learning Theory)

วิธีการสอนแบบนี้ยึดแนวคิดที่ว่า ภาษาเป็นระบบที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ความเข้าใจ และการแสดงออก ทางภาษาขึ้นอยู่กับความเข้าใจ กฎเกณฑ์ เมื่อผู้เรียนมีความเข้าใจในรูปแบบของภาษาและความหมายแล้ว ก็จะสามารถใช้ภาษาได้
ในระยะหลังสงครามโลกเป็นต้นมา วิธีสอนแบบฟัง-พูด (Audio-lingual method) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายผู้สอนภาษาต่างประเทศต่างได้รับการชักชวนให้ใช้วิธีสอนแบบฟัง-พูด แต่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติในห้องเรียนปรากฏว่าผลที่ได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ จากการวิจัยยังพบว่า ผลที่ได้ไม่ดีไปกว่าวิธีเดิม
ดังนั้นการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศจึงหันมาสนใจวิธีการสอนตามทฤษฎีการเรียนแบบความรู้ความเข้าใจ ซึ่งได้แนวคิดมาจากนักจิตวิทยาภาษาศาสตร์ เช่น John B. Carroll, Kenneth Chastain และ Noam Chomsky นักภาษาสาสตร์กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมซึ่งเชื่อว่า ภาษาเป็นเรื่องของการสร้างสมนิสัยจากการวางเงื่อนไขและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า แต่กลุ่มนักจิตวิทยาภาษาศาสตร์เชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาของคนมีความสลับซับซ้อนมากกว่าเพราะเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ภายในสมองมนุษย์ หรือเกิดจากความรู้ความเข้าใจและการใช้ความคิดเป็นพื้นฐาน Carroll กล่าวถึงวิธีนี้ว่าเป็นการสอนแบบไวยากรณ์ และแปลโฉมหน้าใหม่ เพราะการเรียนภาษาเป็นกระบวนการเรียนศัพท์ โครงสร้างและการวิเคราะห์ภาษาอย่างมีแบบแผน
สรุปแล้วการสอนแบบนี้คล้ายกับการสอนแบบไวยากรณ์และแปลในส่วนที่เน้นความเข้าใจโครงสร้างภาษา แต่แตกต่างที่จุดมุ่งหมายในการสอนวิธีสอนแบบไวยากรณ์และแปลมุ่งสอนไวยากรณ์ เพื่อนำไปใช้แปลข้อความต่าง ๆ ความสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการเทียบเคียงภาษาทั้งสอง แต่การสอนตามทฤษฎีความรู้ความเข้าใจมุ่งเน้นกระบวนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาที่เรียน และเน้นการพัฒนา ทักษะทั้ง 4 แต่ไม่ใช่การฝึกซ้ำ ๆ ตามวิธีสอนแบบฟัง-พูด วิธีสอนแบบความรู้ความเข้าใจเป็นการมองการเรียนรู้ภาษาเป็นกระบวนการแก้ปัญหาผู้เรียนจะได้รับการแนะนำช่วยเหลือ โดยเริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานทางด้านกฎเกณฑ์ทางภาษาของผู้เรียนเอง ครูจัดบรรยากาศของชั้นเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงภาษาของตนเองกับภาษาใหม่
ลักษะเด่น
1. ครูมุ่งฝึกทักษะทุกด้านตั้งแต่เริ่มสอน โดยไม่จำเป็นต้องฝึกฟังและพูดให้ดีก่อน แล้วจึงอ่านและเขียนตามวิธีสอนแบบฟัง-พูด (Audio-Lingual Method)
2. ครูสอนเนื้อหาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการที่แตกต่างของนักเรียน ที่มีความสามารถในทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่แตกต่างกัน
3. สนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ความคิด สติปัญญา และมีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ
4. ใช้ภาษาไทยในการช่วยอธิบาย แต่อธิบายเฉพาะในเรื่องการฟังและพูด

ที่มา:วชิร ภุมมา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา,การสอนแบบความรู้ความเข้าใจ
(cognitive code learning).จาก ชื่อเว็บไซต์:http://learners.in.th/blog/wpumma30/18751

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น